ยินดีต้อนรับเข้าสู่ India Amazing โดย นาเดีย
สวัสดีค่ะ หลายคนบอกว่า การไปอินเดียเป็นเรื่องน่ากลัว ทั้ง สังคม การเดินทาง ที่พัก ห้องน้ำ ผู้คน บรรยากาศบ้าง จริงแล้ว ความน่ากลัวมันอยู่ที่สถานที่ที่เราไปและช่วงเวลาค่ะ ถ้าได้ไปสักครั้งหนึ่ง อาจจะเปลี่ยนทัศนคติได้นะคะ บางทีการได้ลองทำในสิ่งที่กลัว มันอาจจะไม่น่ากลัวอย่างที่คิดนะคะ แถมยังง่ายอีกค่ะ...มาผจญภัยในอินเดียกับนาเดียกันนะคะ

ราชฆาฎ

ราชฆาฎ (Raj Ghat)

    ในประเทศอินเดียมีชายคนหนึ่งต่อสู้เพื่อเรียกร้องอิสรภาพด้วยสมองและสองมือจนได้รับชัยชนะ เขาผู้นั้นมีนามว่า “มหาตมะ  คานธี”
         หากใครเดินทางไปอินเดียที่เมืองเดลีซึ่งมีสภาถานที่สำคัญหลายแห่งที่น่าไปเยี่ยมชม หนึ่งในนั้นแม้จะเป็นเพียงสถานที่เผาศพของชายคนหนึ่ง แต่ก็มีผู้คนมาสักการะไม่ขาดสาย สถานที่แห่งนั้นมีชื่อเรียกขานเป็นทางการว่า “ราชฆาต (Rajghat)”
            
       
         ราชฆาฎ คืออนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงมหาตมคานธี บิดาแห่งชาติอินเดีย (Father of the Nation) อนุสาวรีย์แห่งนี้คนทั่วไปเรียกว่า คานธีสมาธิ สร้างขึ้นบริเวณที่เผาศพมหาตมคานธี ณ จุดที่เผาศพสร้างเป็นแผ่นหินเรียบๆ สีดำยกพื้นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีดวงไฟจุดบูชาไว้ตลอดเวลา ข้างๆ แท่นหินนี้เขียนไว้ว่า “เห ราม” ( Oh God!) อันเป็นคำที่มหาตมคานธีกล่าวก่อนสิ้นใจเมื่อถูกยิง รอบแท่นหินมีทางเดินยกระดับก่อด้วยหินสีนวลล้อมเป็นบริเวณกว้าง ที่ตั้งของราชฆาฏมีอาณาบริเวณกว้างขวางนับสิบๆไร่ มีการจัดวางภูมิสถาปัตย์ได้สง่างาม สมกับเป็นที่รำลึกถึงมหาบุรุษของชาติ  
         









          ราชฆาฎนี้เป็นอนุสรณ์สถานที่อาคันตุกะสำคัญจากต่างประเทศมักไปวางพวงมาลาเพื่อแสดงความคารวะแด่มหาตมคานธี  
        วางพวงดอกไม้หน้าราชฆาฎและตั้งจิตพิจารณาอนิจจธรรมคือความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิต แม้จะยิ่งใหญ่สักปานใดก็ตามไม่นานก็ต้องสิ้นลมหายใจเหมือนกับคนอื่นๆ  ดังคำที่ท้าวสักกะจอมเทพได้แสดงคาถาในวันที่พระพุทธเจ้าปรินิพาน ในมหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค (พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง 10/147/149)  ความว่า “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา บังเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความเข้าไปสงบสังขารเหล่านั้นเป็นสุข” แปลมาจากภาษาบาลีว่า อนิจจา วต สงฺขารา  อุปฺปาทวยธมฺมิโม  อุปฺปชฺชิตวา  นิรุชฺฌนฺติ เตสํ วูปสโม สุโข” (พระไตรปิฎกฉบับภาบาลี 10/147/181)  คาถานี้พระภิกษุสงฆ์ในปัจจุบันนำมาใช้เป็นบทพิจารณาผ้าบังสุกุล ในเวลามีงานศพ
            มหาตมะ คานธีเป็นนักต่อสู้ทางการเมืองที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดในโลกคนหนึ่ง แนวทางที่เขาใช้ต่อสู้กับอังกฤษคืออหิงสา หลักการสำคัญที่ที่ทำให้คานธีเป็นที่รู้จักมากที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง คือบาปเจ็ดประการ ซึ่งเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า  “Wealth without work    Pleasure without conscience   Knowledge without character   Commerce without morality   Science without humanity     Worship without sacrifice  Politics without Principle  (ร่ำรวยโดยไม่ทำงาน  หาความสุขสำราญโดยไม่ยั้งคิด  มีความรู้ดีแต่ขาดความประพฤติ  ค้าขายโดยไร้ศีลธรรม  วิทยาศาสตร์ที่ขาดความเป็นมนุษย์  เคารพบูชาแต่ไม่มีความเสียสละ  เล่นการเมืองโดยไม่มีหลักการ)”


raj-ghat



















            แนวคิดของคานธีได้กลายมาเป็นคำสอนสำคัญที่ถูกกล่าวขานมานานแล้ว เมื่อนั่งสงบนิ่งใต้ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งภายในอาณาอันกว้างใหญ่ของราชฆาฏ ก็คิดอธิบายหลักการของคานธีบางข้อได้คำอธิบายโดยสรุปดังนี้
            ร่ำรวยโดยไม่ทำงาน ซึ่งหากอ่านโดยพินิจพิเคราะห์แล้วน่าสนใจ คนที่ร่ำรวยโดยไม่ทำงาน นอกจากจะเป็นบุญเก่าที่อาจจะส่งผลให้มีโชคถูกรางวัล ได้ลาภลอยแล้ว หนทางอื่นก็ยังมองไม่เห็นหรืออาจจะมีวิธีการหาเงินโดยไม่ทำงานอย่างอื่นอยู่อีก วิธีนั้นหากไม่เป็นการทุจริตก็ไม่น่าจะทำให้ร่ำรวยได้
           
หาความสำราญโดยไม่ยั้งคิด เป็นบาปที่สำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์เวลาที่รู้สึกว่าตนเองมีความสุขมักจะหลงมัวเมาเสพสุขจนลืมคิด เวลาที่มีความสุขมักไม่คิดถึงความทุกข์ยาก แต่เวลาลำบากจึงคิดถึงคนใกล้ชิด
            มีความรู้ดีแต่ขาดความประพฤติ  ในพระพุทธศาสนารมีคำสอนข้อหนึ่งว่า “วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุเส” แปลว่า “ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์” ซึ่งเป็นภาษิตมาจากอัมพัฏฐสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค (9/160/128)  แปลความตามพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยว่า “ผู้ที่ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่มนุษย์และเทวดา” หากมนุษย์มีเพียงความรู้ดีอย่างเดียว แต่ความประพฤติเสียหาย ก็ไร้ซึ่งความหมาย ความรู้และความประพฤติจึงต้องเป็นไปด้วยกัน



            ส่วนที่เหลืออีก 4 ข้อคือ “ค้าขายโดยไร้ศีลธรรม  วิทยาศาสตร์ที่ขาดความเป็นมนุษย์  เคารพบูชาแต่ไม่มีความเสียสละ  เล่นการเมืองโดยไม่มีหลักการ”  ท่านผู้อ่านลองนำไปพิจารณาด้วยตนเองว่าจริงเท็จอย่างไร เป็นหลักการง่ายๆ อ่านแล้วเข้าใจได้ทันที แต่ว่าจะปฏิบัติได้จริงหรือไม่ เรื่องนั้นต้องว่ากันอีกที เพราะมนุษย์ยังมีกิเลส มีความอยาก มีความโลภ ความโกรธ ความหลงอยู่ในหัวใจ หากมนุษย์ทุกคนทำได้ตามหลักการของคานธี โลกนี้คงสงบ
            ขณะนั้นมีหญิงชาวฮินดูคนหนึ่งเดินเข้ามาหาและถวายน้ำดื่มหนึ่งขวด เธอไหว้แบบฮินดูพูดภาษาฮินดีซึ่งฟังไม่ออก เธอจะคิดอะไรจึงอาจ “มโน” ตามได้ แต่ทว่าน้ำดื่มขวดนั้นทำให้สดชื่นมีเรี่ยวแรง สิ่งที่ทำได้จึงเพียงแต่กล่าวคำขอบคุณสั้นๆว่า “สาธุ พหุ ธันยวาท” แปลว่า “ดีละ ขอบคุณมาก” มองเห็นรอยยิ้มของเธอด้วยความสุข จากนั้นเธอก็เดินจากไป มนุษย์แม้จะต่างเพศต่างเผ่าพันธุ์ ต่างศาสนาแต่ก็แบ่งปันและอยู่กันอย่างสันติได้





















            มหาตมะ คานธี เกิดวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1869(พ.ศ. 2412) ในแคว้นคูจราตทางทิศตะวันตกของอินเดีย เสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491) ในตอนเย็น ขณะที่คานธีอยู่กลางสนามหญ้า กำลังสวดมนต์ไหว้พระตามกิจวัตร เมื่อคานธีเอ่ยคำว่าว่า "เห ราม" แปลว่า "ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า"  นาถูราม โคทเส ชาวฮินดูผู้คลั่งศาสนา ไม่ต้องการให้ฮินดูสมานฉันท์กับมุสลิม ได้ยิงปืนใส่คานธี 3 นัด จนคานธีล้มลง และเมื่อแพทย์ได้มาพบคานธี ก็พบว่า คานธีได้สิ้นลมหายใจแล้วในวัย 78 ปี
            ต่อมาได้มีการสร้างอนุสรณ์สถานในสถานที่ที่คานธีเสียชีวิต ปัจจุบันเรียกว่า “ราชฆาต” มีผู้คนที่เคารพศรัทธาในคานธีพากันมาจุดเทียนเพื่อรำลึกนึกถึงมหาบุรุษของอินเดีย รอบๆพื้นที่สี่เหลี่ยมยังมีเปลวไฟลุกโซนเปลวไฟไม่เคยมอดดับ เหมือนกับว่าอุดมการณ์แห่งการต่อสู้ด้วยหลักอหิงสาปราศจากอาวุธ สู้ด้วยพลังประชาชน แม้ว่าผู้นำในการต่อสู้จะไม่ได้เห็นชัยชนะ แต่ทว่าก็เป็นต้นกล้าแห่งความสำเร็จ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น